สายธรรมสมบัติกลาง (อูเตร)
The Nine Ways of Yungdrung Bon,
The Central Treasures Tradition

Buddha Tonpa Shenrab พระพุทธเจ้าเติมปา เชนรับ
ความเป็นมา
ดังได้กล่าวแล้วพระพุทธเจ้าเติมปา เชนรับทรงหมุนกงล้อธรรมสามครั้ง ครั้งที่ ๑ เป็นคำสอนว่าด้วยยานหรือวิถีปฏิบัติทั้ง ๙ คำสอนเหล่านี้แอบซ่อนเป็น “เตรมา” ซึ่งมักแปลว่า ธรรมสมบัติที่แอบซ่อน/ (hidden treasures) โดยถูกค้นพบในสามบริเวณของทิเบตคือ ตอนใต้ ตอนกลาง และตอนเหนือ
สายธรรมสมบัติใต้ (โลเตร) เป็นเอกลักษณ์พิเศษของพุทธเพินซึ่งรวมวิถีแห่งโลกียธรรม (ยานแห่งเหตุ) ไว้ด้วย แม้ว่าพระพุทธองค์จะทรงสอนเรื่องความรักความกรุณาและกฎแห่งไตรลักษณ์และอริยสัจ ๔ แต่ทรงทราบว่ามนุษย์ปุถุชนจำนวนมากยังไม่สามารถดำเนินชีวิตในวิถีแห่งโลกุตตรธรรมได้ จึงทรงสอนยานเหล่านี้โดยเน้นเรื่องกฎแห่งกรรม ให้ทำความดี ละความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์
หากเป็นผู้ที่สามารถอุทิศตนเพื่อการปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ทรงสอนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา และการดำเนินชีวิตบนหนทางแห่งพระโพธิสัตว์ไปจนถึงยานชั้นสูงซึ่งเป็นการเดินทางด้านใน เน้นการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของวาจาและทำสมาธิ (ตันตระ) ไปจนถึงยานสูงสุดซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับจิตอย่างเดียว (ซกเช็น)
สายธรรมสมบัติกลาง
สายธรรมสมบัติกลางเกิดจากการที่คัมภีร์จำนวนมากได้รับการค้นพบ ณ บริเวณวัดซัมเย่และถ้ำในทิเบตภาคกลางโดยคุรุหลายท่านรวมทั้ง “อาซารา” ชาวเนปาล ๓ คน
ในหนังสือบางเล่มเรียกอาซาราเหล่านี้ว่า อาจารย์ แต่ในคัมภีร์ “เลกเช ริมโปเช เซอ” (ขุมทรัพย์แห่งคำสอนที่ได้กล่าวไว้ดีแล้ว) ของพระอาจารย์ชาซา ริมโปเชกล่าวถึงพวกเขาว่า พวกเขามาหาธรรมสมบัติเพราะคิดว่าจะพบทอง แต่เมื่อพบคัมภีร์ จึงนำคัมภีร์ไปแลกกับอาหาร อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้มีแรงจูงใจอันประเสริฐที่จะค้นหาคัมภีร์ และดูเหมือนจะเป็นขโมยด้วยซ้ำ แต่การที่พวกเขาได้ค้นพบธรรมสมบัติ จึงถือว่า เป็นหนึ่งใน “เตรเตริน” คุรุผู้ค้นพบธรรมสมบัติผู้มี “บุญ” ซึ่งคำว่า บุญ ในที่นี้อ้างถึง “กรรมที่ยังคงเหลืออยู่” (เลโทร) ที่จะต้องประกอบเพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์
คำสอนเรื่องยานเก้าที่ระบุในคัมภีร์ธรรมสมบัติกลางมีเนื้อหาของแต่ละยานแตกต่างเป็นส่วนใหญ่จากยานเก้าในสายธรรมสมบัติใต้ แต่มีความคล้ายคลึงกับการแบ่งยานเก้าของนิกายญิงมาปะแม้ว่าจุดเน้นของบางยานอาจมีความแตกต่างกัน ดังเช่น ยาน ๑ ซึ่งสำหรับพุทธเพินคือวิถีแห่งพุทธศาสนิกชนที่เน้นความสุขทางโลก แต่ในญิงมาปะจะหมายถึงสาวกยานที่ผู้คนมีจิตละวางจากเรื่องทางโลก
*ชื่อภาษาไทยของยานเหล่านี้เขียนไว้แบบสรุปความเพื่อให้เข้าใจง่าย ไม่ใช่การแปลชื่อของยาน
ยานแห่งเหตุ ๔
๑. ลามิ แฉนเต็น กิเทกปะ (วิถีทางโลก)
ชื่อของยานแปลโดยรูปศัพท์ว่า ยานที่ขึ้นกับผู้อื่น เป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ยานนี้เน้นศรัทธาในพระรัตนตรัย หลีกเลี่ยงอกุศลกรรม ประกอบกุศลกรรมทางกาย วาจา ใจ อย่างไรก็ตาม ผู้ดำรงอยู่ในยานนี้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้เอง ต้องอาศัยการชี้แนะจากผู้อื่น ผู้ปฏิบัติเน้นความสุขในชีวิตนี้เป็นสำคัญ ยึดวิถีแห่งโลกียธรรม และยังไม่เกิดการตระหนักรู้สภาวธรรม
มีคำกล่าวว่า “ผู้อยู่ในยานนี้คือผู้ที่อยู่ที่ประตูของการปฏิบัติแต่ยังไม่ได้เข้าไปในตัวการปฏิบัติจริง”
๒. รังตก เชนรับ กิเทกปา (วิถีแห่งการตระหนักรู้ด้วยตนเอง)
เป็นยานของผู้ปฏิบัติธรรมที่เมื่อปฏิบัติแล้วเกิดความเข้าใจได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องได้รับการชี้นำจากผู้อื่น แต่เข้าใจคำสอนจากการฝึกปฏิบัติของตนโดยเฉพาะจากการทำสมาธิ เน้นสัจธรรมทั้งสอง เป็นยานของพระปัจเจกพุทธ
๓. ทุกจี เซ็มปา เทกปา (วิถีแห่งผู้เปี่ยมด้วยความกรุณา)
ยานนี้คือจุดเร่ิมต้นของพุทธมหายานซึ่งเน้นอุดมคติของพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญทศบารมี ได้แก่ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ สมาธิ พละ กรุณา ภาวนา อุปายะ และปัญญา
๔. ยุงตรุง เซ็มเป เทรอ เมเป เทกปา (วิถีแห่งพระโพธิสัตว์)
นอกจากบำเพ็ญทศบารมีและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระโพธิสัตว์ ผู้อยู่ในยานเน้นการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในหลักธรรมว่าด้วยศูนยตาและดำรงชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาแห่งทางสายกลาง
ยานแห่งเหตุ ๔ ข้างต้นนี้ เป็นยานแห่งพระสูตร พระอาจารย์เท็นซิน นัมตัก ริมโปเช อธิบายว่า สามารถเชื่อมโยงกับพุทธปรัชญาแห่งเถรวาท (ยาน ๑-๒) และมหายาน (๓-๔) ดังนี้
ยาน ๑ ปรัชญาไวภาษิกะ (เน้นความจริงด้านนอกซึ่งรับรู้ได้เชิงประจักษ์)
ยาน ๒ ปรัชญาเสาตรันติกะ (เน้นความจริงด้านในซึ่งรับรู้จากการอนุมาน)
ยาน ๓ โยคาจาร (เชื่อว่าเฉพาะจิตเท่านั้นที่เป็นจริง สิ่งอื่นเป็นมายาของจิต)
ยาน ๔ มาธยมิกะ (ทางสายกลาง สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย สืบเนื่องด้วยปฏิจจสมุปบาท มีเนื้อแท้เป็นความว่าง)
ยานแห่งผล ๕
ยานแห่งตันตระและซกเช็น
๕. ชาวา ซังเชอ เยเพิน กิทกปา (วิถีปฏิบัติแห่งความบริสุทธิ์)
เน้นการประกอบพิธีกรรมและดำรงชีวิตด้วยพฤติกรรมที่บริสุทธิ์ ตามหลักการของกริยาตันตระซึ่งเป็นคัมภีร์ตันตระในระดับต้น ผู้อยู่ในยานปฏิบัติต่อพระยีตัมผู้เป็นพระแห่งปัญญาอย่างนอบน้อมเพื่อให้ได้รับพรและสิทธิจากพระองค์
๖. นัมปา กุนเต็น งนเช กิเทกปา (วิถีปฏิบัติแห่งญาณพิเศษ)
เน้นการประสานพิธีกรรมกับการฝึกปฏิบัติด้านใน ตรงกับจริยาตันตระ ซึ่งเป็นตันตระในระดับที่ ๒ ผู้อยู่ในยานปฏิบัติต่อพระยีตัมอย่างเป็นมิตร ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบสูง-ต่ำและห่างไกลเหมือนกับมุมมองในยานที่ ๕ แต่ยังคงเน้นการดำรงชีวิตและประกอบพิธีกรรมที่เน้นความบริสุทธิ์
๗. งนเจด ทุกจี เรอเบ เทกปา (วิถีแห่งการทำสมาธิตั้งนิมิต)
เน้นการฝึกปฏิบัติ ที่ไม่แยกจากการทำสมาธิตั้งนิมิต (เก-ริม) ฝึกฝนโยคะตันตระ หรือตันตระในระดับที่ ๓ การบริกรรมภาวนาหรือปฏิบัติบูชาพระแห่งปัญญาต้องไม่แยกจากการทำสมาธิ
๘. ชินตุ เตินเต็น กุนซก กิเทกปา (วิถีแห่งการทำสมาธิสลายนิมิต)
เน้นการปฏิบัติที่ประสานจิตกับสภาวธรรมโดยไม่ตามการปรุงแต่งผ่านการทำสมาธิสลายนิมิต (ซกริม) ฝึกฝนอนุตตรโยคะตันตระ หรือตันตระในระดับสูงสุด
๙. เยเน ซกเช็น ยังเซ ลาเม กิเทกปา (วิถีแห่งซกเช็น)
ความหมายโดยรูปศัพท์ของชื่อยานคือ “ซกเช็นแต่โบราณกาล ยานอันประเสริฐอย่างไม่มียานใดเทียบเทียมได้” ตรงกับ อติโยคะ ในญิงมาปะ ยานนี้เน้นคำสอนว่าด้วยความว่าง ความกระจ่าง และวิธีการประสานความว่างกับความกระจ่างเพื่อให้บรรลุตรีกายของพระพุทธเจ้า
หมายเหตุ :
๑. คำว่า ตันตระ เป็นชื่อของชุดคัมภีร์ที่ว่าด้วยการแปรเปลี่ยนจิตของผู้ปฏิบัติให้เป็นจิตเดียวกับพระยีตัมซึ่งมีทั้งสันติ กึ่งพิโรธ และพิโรธ คัมภีร์ตันตระในระดับโยคะและอนุตตรโยคะเน้นพระยีตัมในปางกึ่งพิโรธและพิโรธซึ่งเป็นการทำสมาธิในระดับซับซ้อนที่ต้องได้รับการชี้นำจากคุรุอาจารย์ผู้ผ่านประสบการณ์ในการฝึกปฏิบัติและได้รับมอบคำสอนที่ไม่ขาดสายมา
๒. จะเห็นว่า ยานที่ ๕-๘ รวมไว้ในยานที่ ๗-๘ ในสายธรรมสมบัติใต้
สายธรรมสมบัติเหนือ (ชังเตร)
สายธรรมสมบัติที่ได้รับการค้นพบทางเหนือของทิเบตภาคกลาง แต่มีผู้เขียนถึงน้อยมาก บ้างว่ามีความคล้ายคลึงกับสายธรรมสมบัติกลาง ในการปฏิบัติตามวิถีแห่งยาน ๙ ของพุทธเพินในปัจจุบันไม่เน้นสายธรรมสมบัตินี้เลย สายธรรมสมบัติที่เป็นหลักของการดำรงชีวิตของผู้ปฏิบัติพุทธเพินเป็นหลักคือ สายธรรมสมบัติใต้ ที่ได้กลายมาเป็นประเพณีปฏิบัติ วัฒนธรรม เอกลักษณ์และจิตวิญญาณของทิเบตในปัจจุบัน
กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล อธิบายและเรียบเรียง