บทที่หนึ่ง
การปฏิบัติตามคุรุ ผู้เป็นรากเหง้าแห่งความดีงามทั้งปวง
คัมภีร์ลัมริมมีหัวข้อใหญ่อยู่สองส่วน ในส่วนที่หนึ่ง เราจะพูดถึงการปฏิบัติตามคุรุทางจิตวิญญาณ ผู้เป็นรากเหง้าแห่งความดีงามทั้งปวง โดยมีหกประเด็นย่อย ได้แก่ (1) คุณลักษณะของคุรุ (2) คุณลักษณะของศิษย์ (3) การปฏิบัติตามคุรุ (4) อานิสงส์ของการปฏิบัติตามคุรุ (5) ข้อเสียของการไม่ปฏิบัติตามคุรุ และ (6) สรุปประเด็นสำคัญ
คุณลักษณะของคุรุ
มรรควิถีแห่งการละโลก การเปลี่ยนโลก และการปล่อยให้ทุกสิ่งสลายไปด้วยตนเอง (มรรควิถีแห่งพระสูตร ตันตระและซกเช็น) กล่าวถึงผู้ที่มีคุณลักษณะของคุรุทางจิตวิญญาณแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วผู้เป็นคุรุจะมีลักษณะดังท่ีท่านเจ ญัมเม ริมโปเชได้พูดไว้ กล่าวคือ ต้องมีปัญญาจากการเรียนรู้ มีทัศนคติบริสุทธิ์ และมีความเชี่ยวชาญแห่งอุบายในการสอนให้ผู้อื่นได้เปลี่ยนแปลงจิตใจของตนเอง คุรุที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นผู้ควรค่าแห่งการบูชา และควรค่าแห่งการแสดงความเคารพด้วยกายวาจาใจ
คุรุต้องได้รับการฝึกฝนจนเกิดปัญญาจากการฟัง จากการคิดใคร่ครวญและการภาวนาทั้งทางศีล สมาธิและปัญญา ต้องมีความรู้ในนิกายอย่างชัดแจ้งและมีความรู้ในคัมภีร์ที่ใช้สอน นอกจากนี้ คุรุต้องมีทัศนคติที่บริสุทธิ์ที่จะทำประโยชน์ต่อพระธรรมคำสอน ต่อสรรพสัตว์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการพัฒนาจิตใจของศิษย์
คุณสมบัติข้อที่สาม คุรุต้องคำนึงถึงความสนใจของศิษย์ จะต้องเก่งในอุบาย ในวิธีการ และมีความเชี่ยวชาญในสิ่งที่สอน และในขณะที่สอนศิษย์ คุรุจะต้องไม่เหน็ดเหนื่อยแต่มีความสามารถที่จะสอนตลอดเวลา เมื่อศิษย์ถามคำถามเกี่ยวกับประเด็นยากๆ หลายข้อ ต้องไม่แสดงความเหนื่อยหน่ายหรือไม่พอใจ คุรุต้องสามารถอธิบายอย่างชัดเจนถึงหลักตรรกะทั้งสาม ได้แก่ พระวจนะของพระพุทธเจ้า คำอธิบายของเหล่าพระโพธิสัตว์ และหลักการเหตุผลจากการไตร่ตรองของตนเอง
โดยสรุป คุรุต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในคำสอน รู้ว่าประเด็นไหนในข้อธรรมที่เหมาะสมกับจริตและความสามารถของศิษย์ เหมือนหมอที่รู้จักให้ยาให้ถูกโรคแก่คนไข้
คุณสมบัติของศิษย์
ตามี่ท่าน เจ ญัมเม กล่าวไว้
ผู้ฟังธรรมต้องมีจิตใจเข้มแข็ง เข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจน และมีศรัทธาสูง ถ้าศิษย์ใดมีคุณสมบัติเหล่านี้ ก็เหมือนกับเจ้าชายที่ควรค่าแก่การได้รับทรัพย์สมบัติของพระราชา
นั่นคือ ประการแรก ศิษย์ต้องไม่รู้สึกท้อแท้ต่อการบำเพ็ญบุญกุศล สามารถควบคุมจิตใจของตนเองให้ไม่วอกแวก ประการที่สอง ศิษย์ต้องมีสติปัญญา คิดเป็น รู้ว่าสิ่งใดควรรับไว้ สิ่งใดควรละวาง ประการที่สาม ศิษย์ต้องมีศรัทธาสูง แสดงวิริยะอุตสาหะ และไม่พึงพอใจเพียงแค่การฟังหรือคิดใคร่ครวญข้อคิดทางธรรมเพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น
การปฏิบัติตามคุรุ
ในหัวข้อนี้มีประเด็นย่อยสองข้อซึ่งเกี่ยวกับทัศนคติและพฤติกรรม ในส่วนที่เกี่ยวกับทัศนคติ ศิษย์ต้องมีศรัทธาสูงและมีความนับถือคุรุอาจารย์ผู้ที่ศิษย์รู้สึกระลึกถึงอยู่ตลอดเวลา ปีติสุขและทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้และในโลกหน้าล้วนแต่ขึ้นกับพระคุณของคุรุทั้งสิ้น พระวจนะและคัมภีร์ต่างๆ ทั้งในสายเพิน (พุทธเพิน) และสายเชอ (พุทธนิกายอื่นของทิเบต) ก็ล้วนแต่เห็นพ้องต้องกันในประเด็นนี้ แต่ในการที่จะได้รับความสุขเช่นนี้ เราจำเป็นต้องมีศรัทธาในระดับที่ว่าเรามองคุรุเป็นดังพระพุทธเจ้า
ศิษย์เอกของท่านเจปุงผู้ยิ่งใหญ่ (มหาคุรุ เทรนปา นัมคา) ถามพระอาจารย์ของเขาว่า อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้รับความรู้ พระอาจารย์ตอบว่า พรของคุรุ
ศิษย์ถามต่อว่า แล้วอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ศิษย์ได้รับพร พระอาจารย์ตอบว่า การเห็นคุรุเป็นพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่จะทำให้ศิษย์ได้รับพร
ในทำนองเดียวกัน ท่าน ลามา ลา กล่าวไว้ว่า
คุรุผู้เข้าถึงการตื่นรู้เป็นดังแก้วสารพัดนึก เมื่อเราสวดมนต์ถึงท่านเหล่านั้น ความปรารถนาทั้งหลายของเราจะสมฤทธิ์ผล
ดังนั้น ระดับของพรจึงขึ้นอยู่กับระดับของศรัทธาที่เรามีต่อคุรุว่าเป็นแบบดีเลิศ ดีปานกลาง หรือดีพอใช้ โดยปราศจากศรัทธา ก็ไม่มีพรใดๆ เกิดขึ้น
มหาสิทธา ชุงกม สอนว่า
ถ้าเราเห็นคุรุเป็นพระพุทธเจ้า คำสอนที่เราได้รับก็เป็นดังน้ำอมฤต ถ้าเราเห็นคุรุเป็นปุถุชนธรรมดา คำสอนที่ได้รับก็เป็นดังอาหารและเครื่องดื่ม ถ้าเราเห็นคุรุเป็นสุนัขแก่ๆ ตัวหนึ่ง คำสอนที่ได้รับก็เป็นดังน้ำล้างจาน
ท่าน ลามา ลา ยังกล่าวว่า
ปราศจากศรัทธาและความเคารพนอบน้อม เป็นไปไม่ได้เลยที่พรจะเข้ามาสู่จิตใจของเรา พรของคุรุเป็นเหมือนน้ำ เฉพาะศิษย์ที่มีศรัทธาและแสดงความเคารพนับถือต่อคุรุเท่านั้นที่จะได้รับพรนั้น
ท่าน โจดุง กล่าวว่า
ข้าพเจ้าขอประณตน้อมคุรุ ผู้นำพรเข้ามาสู่จิตใจของข้าพเจ้าด้วยศรัทธาและความเคารพนอบน้อม
ท่าน เจซูน ตัมปา กล่าวว่า
ด้วยเป้าแห่งศรัทธาและความเคารพนอบน้อม ก็ไม่มีคำว่าใกล้หรือไกลสำหรับธนูแห่งพร
ท่าน วาทัง ฉังเติน กล่าวว่า
ผู้ที่มีศรัทธาและความเคารพนอบน้อม ไม่จำเป็นต้องเรียนวิธีทำสมาธิ ประสบการณ์แห่งธรรมจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติโดยเขาไม่ต้องขวนขวายหรือพยายาม
คัมภีร์ ทรังเติน กล่าวไว้ว่า
เรารับพรจากสายการปฏิบัติและจากพระพุทธเจ้าผ่านศรัทธาเท่านั้น
วิธีการปฏิบัติต่อคุรุไม่ใช่ด้วยการใช้ชีวิตอยู่กับท่าน รับใช้ท่าน หรือมอบข้าวของเครื่องใช้ทรัพย์สมบัติให้ท่าน เราต้องปฏิบัติต่อคุรุด้วยทัศนคติและพฤติกรรมที่ถูกต้องดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
ทัศนคติที่ถูกต้องต่อคุรุ
การมีศรัทธาอย่างไม่เปลี่ยนแปลงในคุรุเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในการพัฒนาให้เกิดศรัทธาปสาทะ เราต้องขจัดความสงสัยออกไป ควาสงสัยเป็นศัตรูที่นำความยากไร้มาสู่เราทั้งในชีวิตนี้และชีวิตอีกมากมายในอนาคตตราบจนเข้าถึงการหลุดพ้น ความสงสัยเกิดขึ้นเมื่อเราเห็นข้อเสียในคุรุซึ่งทำให้เรามีการรับรู้ที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่เราจะต้องขจัดความสงสัยให้ออกไปด้วยวิธีการสองอย่าง คือ หนึ่ง – ผ่านคำสอนของคุรุ และสอง – ผ่านการคิดไตร่ตรองหาเหตุผล
คำสอนที่สืบผ่านจากคุรุมาสู่เราช่วยขจัดความสงสัยได้อย่างไร มนุษย์ปุถุชนทั่วไปแบบเราไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าหรือได้กราบสักการะพระองค์ แต่ด้วยความปรานีของพระองค์ จึงทรงปรากฏมาเป็นบุคคลธรรมดา นั่นคือ ปรากฏมาเป็นคุรุของเรา และนั่นคือความหมายที่แท้ของความเป็นคุรุ ผู้โดยเนื้อแท้แล้วคือพระพุทธเจ้าองค์ต้นกำเนิด พระพุทธเจ้าสมันตภัทร (กุนตุ ซังโป)
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็กล่าวประเด็นนี้ดังจะเห็นได้จากคัมภีร์ มุมมองแห่งพญาครุฑ ตันตระในระดับลึกล้ำแห่งวิถีอันเป็นนิรันดร ซึ่งกล่าวไว้ว่า
เมื่อเราเข้าถึงตันตระในระดับลึกล้ำซึ่งก็คือสภาวะอันยิ่งใหญ่ แห่งจิต เราสอนประเด็นนี้ให้แก่ผู้อื่น ผู้สอนนี้แหละที่เรียกว่า พระพุทธเจ้าสมันตภัทร
ในคัมภีร์ รวมคำสอนสีขาวสามอย่าง (การ์โป ซุมจอร์) มีข้อความระบุไว้ว่า
คุรุคือพระพุทธเจ้า คุรุคือพระธรรม (เพิน) และคุรุคือพระโพธิสัตว์
คำสอนของพระพุทธเจ้าว่าด้วยสิ่งใดควรปฏิบัติ สิ่งใดควรละวาง เป็นจริงเสมอ ดังคำกล่าวว่า ไม่มีแม้เพียงกลิ่นอายของความผิดพลาดใดๆ พระองค์ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรเชื่อในพระวจนะของพระองค์
ในการคิดไตร่ตรองหาเหตุผลเพื่อสร้างศรัทธา เราควรคิดดังนี้
คุรุในปัจจุบันแท้ที่จริงแล้วคือพระพุทธเจ้า สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไม่ใช่สิ่งโกหก นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมที่เป็นนักวิชาการหลายท่านในมรรควิถีแห่งจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะเรียกว่า เพิน ในชางชุงและทิเบต หรือ เชอ ในอินเดีย ต่างเป็นนิรมาณกายของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าและเหล่าพระวิทยาธร (สิทธาผู้เข้าถึงริกปะ) ในอดีต ตามคำพยากรณ์ส่วนใหญ่ มาประสูติและถือกำเนิดในร่างของมนุษย์ปุถุชนธรรมดา
เมื่อพวกท่านเหล่านั้นยังเล็ก ก็ร้องไห้ ดูดนมแม่ และแสดงบุคลิกลักษณะอันไร้เดียงสาของเด็กเล็กทั่วไปที่ไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งใด เมื่อโตขึ้นมา พวกท่านเหล่านั้นก็ได้รับการฝึกฝนและฝึกปฏิบัติเหมือนบุคคลทั่วไป พวกท่านกินอาหาร นอนหลับ ขับถ่าย รวมทั้งเจ็บป่วยเช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไปทั้งหลาย
บางท่านแม้แต่เสียชีวิตไปจากสาเหตุที่เป็นอัปมงคล ถ้าเราถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะเราไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่ามนุษย์ทุกคนเป็นเพียงบุคคลธรรมดา และนี่เป็นจริงไม่เพียงแต่พระพุทธเจ้าแต่รวมทั้งพระอริยสัตว์ในพุทธมหายานก็อยู่นอกเหนือกฎแห่งกรรมและกิเลส
อย่างไรก็ตาม เพื่อจะโปรดเวไนยสัตว์ พวกท่านจึงถือกำเนิดในลักษณะที่สอดคล้องกับเวลาและเหล่าสัตว์ ไม่มีวิธีการอื่นนอกจากการได้มาถือกำเนิดในร่างของสัตว์โลกธรรมดา ถ้าเราไม่เห็นความหมายที่แท้ของข้อนี้แต่กลับตามการปรุงแต่งอันเป็นมุมมองที่ไม่บริสุทธิ์ ก็จะทำให้มิจฉาทิฏฐิบังเกิดในใจเรา

ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องกับพระธรรมบาลซีปา เกียลโม เมืองงาวา แคว้นอัมโด ทิเบตตะวันออก Sidpa Gyalmo Lake, Ngawa (Aba), Amdo Tibet
นานมาแล้ว มีฤษีท่านหนึ่งจากแคว้นโอแจนชื่อว่า ซัลนัง (ปรากฏการณ์ชัดใส) เห็นท่านวิทยาธร ผู้เข้าถึงสิทธิแห่งปัญญาชั้นสูงว่าเป็นผู้นอกรีตสังหารผู้คนจำนวนมากโดยใช้ยาพิษกับเวทย์มนตร์
ในทำนองเดียวกัน เชน ริกปา ซัล เห็นท่านเชน กู เจีย ผู้เป็นนิรมาณกายของวิทยาธร ยุงตรุง ปาโว เซ ว่าเป็นผู้ครองเรือนธรรมดาคนหนึ่งที่สังหารม้า (เพื่อนำเนื้อมาเป็นอาหาร – ผู้แปล)
มุมมองที่ไม่บริสุทธิ์ต่อมหาสิทธาเหล่านี้ปรากฏแก่พวกเขา แล้วนับประสาอะไรกับมนุษย์ปุถุชนธรรมดาอย่างเรา ผู้ถูกรัดรึงด้วยกิเลส เราจึงเห็นการกระทำของคุรุอาจารย์ว่าเต็มไปด้วยข้อเสีย ดุจดังสายตาของผู้ป่วยถุงน้ำดี เขาจะมองทุกอย่างที่ปรากฏต่อหน้าของเขาว่ามีสีเหลือง
อีกตัวอย่างหนึ่ง มองดูเผินๆ มหาสิทธิา กูรู เนินเซ เป็นนายพรานหรือนักฆ่าสัตว์ ผู้ฆ่าไก่ นก กวาง และสัตว์เล็กๆ เช่น แมลง และผึ้ง และมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกูรู เนินเซที่ไปทำโจรกรรมกับขี้เหล้าเมายาด้วย
เนื่องจากเราเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ยังไม่บริสุทธิ์ และต้องได้รับการขัดเกลา ด้วยเหตุนี้ แม้คุรุจะเป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ แต่ท่านเสด็จมาในลักษณะที่สอดคล้องกับชีวิตของปุถุชนธรรมดา เราจึงควรคิดว่าเป็นการไม่เหมาะสมเลยที่จะด่วนตัดสินว่าผู้ใดไม่ใช่พระพุทธเจ้า แม้ว่าการกระทำของบุคคลนั้นจะดูว่ามีข้อบกพร่องก็ตาม
ดังนั้น เราจึงต้องขจัดความสงสัยในการเห็นข้อเสียของคุรุและพัฒนาศรัทธาในการเห็นคุรุว่าเป็นสภาวะพุทธะ เมื่อได้พัฒนาศรัทธาแล้ว เราจะได้รับรากเหง้าของสิ่งดีงามทั้งหลายซึ่งมาจากการได้ทำในสิ่งที่คุรุให้ทำ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องบูชาที่ดีที่สุด เกี่ยวกับประเด็นนี้จะได้กล่าวถึงในหัวข้อเกี่ยวกับพฤติกรรมต่อไป
พระอาจารย์ กุนเทรอ ทรักปา ผู้รู้ทุกสิ่ง กล่าวว่า
ถ้าเราคิดว่าการที่เราเห็นข้อผิดของคุรุว่าเป็นข้อเสียของเรา ก็แสดงว่าเรามีมุมมองบริสุทธิ์ด้วยการเห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่คุรุทำล้วนแต่ดีงาม หากเราคิดได้เช่นนี้ เราจะเข้าถึงพื้นฐานของความดีงามและความสุขทั้งปวง ซึ่งเกิดจากการได้บรรลุในสิ่งที่คุรุให้ทำ ถ้าเรามีศรัทธาปสาทะที่พิเศษและแม้ว่าคุรุจะไม่มีคุณสมบัติอันวิเศษ พระพุทธเจ้าทั้งสิบทิศก็ยังคงดำรงอยู่ที่กายของท่านผู้สอนธรรมะและประทานพรให้แก่ศิษย์
ในประเด็นนี้ คัมภีร์ตันตระกล่าวว่า
พระตถาคตทั้งหลายอุดมอยู่ในกายของคุรุ ผู้สอนพระธรรม
…
ภาพประกอบเรื่อง : พระกรณียกิจแรกของพระพุทธเจ้าเติมปา เชนรับ มิโว ผู้ถือกำเนิดมาเพื่อโปรดสรรพสัตว์
Feature Image : The first enlightened deed of Buddha Tonpa Sherab Miwo
*สงวนลิขสิทธิ์ กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล (เกซัง ตาวา) ผู้แปล