Meditation Courses and Retreats, Kundrol Dechen Ling หลักสูตรภาวนานี้เป็นจุดหมายปลายทางในแนวทางการปฏิบัติธรรมของมูลนิธิพันดาราและเป็นหัวใจของการสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม “ขทิรวัน” หรือ “กุนเทรอ เตเช็นลิง”
เพื่อสร้างบุคลากรทางธรรมให้แก่โลก น้อมนำให้เกิดสันติสุขในจิตใจของผู้คน และอนุรักษ์คำสอนล้ำค่าในพุทธวัชรยานและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิถีพุทธเพิน (ยุงตรุงเพิน) แห่งทิเบตซึ่งประกอบด้วยพระสูตร ตันตระ และซกเช็น
การสอนคอร์สภาวนาเหล่านี้ยังเป็นการสร้าง “สถูป” ที่มีชีวิต เพื่อสืบสานพระหทัยของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ อันเป็นกุศลยิ่งใหญ่ในระหว่างที่มูลนิธิดำเนินโครงการก่อสร้างพระศานติตารามหาสถูป เป็นการรังสรรค์ “มันดาลา” ที่งดงามดังพุทธเกษตรเพื่อการบำเพ็ญบุญบารมีทั้งสองของผู้มีจิตศรัทธา และเป็นการปฏิบัติ “คุรุโยคะ” ประสานจิตเป็นหนึ่งเดียวกับคุรุและสภาวธรรม ซึ่งเป็นหัวใจของการปฏิบัติซกเช็น คำสอนที่เป็นยอดของการภาวนาทั้งหมดของพวกเรา
คำสอนและการปฏิบัติที่กล่าวถึงในหลักสูตรนี้ได้สืบทอดมาอย่างไม่ขาดสายและได้รับมอบจากคุรุอาจารย์ผู้เปี่ยมด้วยความปรานีหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์ซูเช็น เทกชก เต็มเป ญีมา ริมโปเช แห่งวัดตกเต็น แคว้นอัมโด ทิเบต และพระอาจารย์กุนเทรอ เมินเกียล ลาเซ ริมโปเช แห่งวัดเมินเกียล แคว้นคาม ทิเบต ผู้เป็นพระปฐมอาจารย์ของผู้สอนหลัก (ดร.กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล/ เกซัง ตาวา และอ.มิว เยินเต็น) ท่านทั้งสองได้สืบทอดคำสอนจากพระปฐมอาจารย์ของท่าน ผู้สืบทอดจากพระอาจารย์ชาซา ต้าชี เกียลเซ็น ริมโปเช พระอาจารย์เกียลวัง กุนเทรอ ทรักปา และคุรุสำคัญอีกหลายท่าน
นอกจากนี้ คำสอนและการปฏิบัติเกี่ยวกับองค์พระแห่งปัญญาโดยเฉพาะพระแม่ตารา รวมทั้งพื้นฐานแห่งพระสูตร (เช่น โพธิจิต บารมีหกแห่งพระโพธิสัตว์ อัปมัญญาสี่ ฯลฯ) ยังได้รับการถ่ายทอดจากพระอาจารย์ กุงกา ซังโป ริมโปเช คุรุ ผู้สืบสายการปฏิบัติงอร์เช็นแห่งนิกายสาเกียปะ ผู้เป็นที่เคารพรักอีกท่านหนึ่งของผู้สอนและมูลนิธิพันดารา
หลักสูตรภาวนา มูลนิธิพันดารา
การปฏิบัติพื้นฐาน
- บาร์โด ภาวนาเพื่อกลับสู่แสงกระจ่างแห่งจิต (คุณค่าของชีวิตที่เหลืออยู่ การเตรียมจิตสำหรับวาระสุดท้าย และช่วยเหลือผู้จากไป)
- ทงเลน ภาวนาเพื่อกลับสู่โพธิจิต (หลักในการทำสมาธิ การบ่มเพาะโพธิจิตและละวางจากอัตตา การเผชิญความทุกข์ของตนเองและผู้อื่นด้วยเมตตา กรุณาและปัญญา)
- เซ็มทรี ภาวนาเพื่อกลับสู่ใจที่แท้ (หลักในการทำสมาธิ การหลุดพ้นจากการปรุงแต่งและดำรงอยู่กับริกปะและจิตเดิมแท้)
- ลุงจอร์งา การปฏิบัติเกี่ยวกับลมทั้งห้า (การปฏิบัติให้กาย-จิตมีสุขภาวะ มีความมั่นคงและสามารถเผชิญสิ่งท้าทายในชีวิต เรียนรู้เรื่องธาตุทั้งห้า จักระทั้งห้า และความสัมพันธ์กับลมทั้งห้า พร้อมฝึกโยคะแบบทิเบตซึ่งเป็นการป้องกันความเครียดและความเจ็บป่วย รวมทั้งเอื้อประโยชน์ต่อการทำสมาธิ)
และคำสอน ลัมริม ดวงประทีปชัดใสแห่งคำสอน (พื้นฐานการปฏิบัติธรรมในพระสูตรแห่งพุทธเพินและพุทธวัชรยาน เพื่อความเข้าใจการปฏิบัติอย่างถ่องแท้และเพื่อให้การเดินบนหนทางแห่งธรรมตามอุดมคติของพระโพธิสัตว์เป็นไปอย่างสมบูรณ์และไม่ผิดพลาด)

การปฏิบัติซกเช็นเกี่ยวกับหยดแสง(ทิกเล่) โดยมีอักขระ “อา” แทนจิตเดิมแท้ หยดแสงต่างๆ ที่มีสีแตกต่างกันล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของริกปะ หรือปัญญาญาณแห่งการตื่นรู้
หลักสูตรซกเช็น
การปฏิบัติเบื้องต้น (เงินโดร)
ชุดคำสอนมหาสมุทรแห่งพระวจนะ
- เงินโดร 1 รากฐานพุทธธรรม + ฝึกฝนด้วยตนเอง
- เงินโดร 2 ถวายมันดาลา + ฝึกปฏิบัติด้วยกัน
- สมาธิโพวา (ส่งดวงจิตไปประสานกับพระปฐมอาจารย์และสภาวธรรม)
การปฏิบัติหลักของซกเช็น (เงินฉี)
ชุดคำสอนตรีกายส่องแสงด้วยตนเอง
- สมาธิอาทรี (สมถะแห่งซกเช็นและทบทวนเซ็มทรีเพื่อเข้าใจริกปะหลังทำสมาธิ ฝึกปฏิบัติเป็นกลุ่ม หรือ จำศีลเดี่ยว 7 วัน)
- เจอด ปฏิบัติตัดอัตตาและการปรุงแต่ง (การปฏิบัติแห่งความกรุณาผ่านการสวดมนต์และทำสมาธิเพื่อตัดภาพลวงตาจนหมดสิ้น) ผู้ฝึกควรได้ผ่านคอร์สแก่นหัวใจพระฑากินี
- สมาธิเทกเชิดและคอนเต รูเช็น (ฝึกปฏิบัติเทคนิควิธีที่จะทำให้ได้ดำรงอยู่กับริกปะและเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงสังสารวัฏและนิพพาน)
- สมาธิซาลุง/ตุมโม (ดูชุดคำสอนเกี่ยวกับการฝึกลมปราณ)
- สมาธิเทอกัล (ฝึกเทคนิคเกี่ยวกับแสงเพื่อดำรงอยู่กับริกปะ)
- จำศีลมืด (เป็นภาคปฏิบัติเข้มของสมาธิเทอกัล ด้วยการอยู่จำศีล 49 วัน หลังฝึกปฏิบัติคอร์สที่เกี่ยวข้อง)
การปฏิบัติเสริมของซกเช็น

พระอาจารย์ชาซา ต้าชี เกียลเซ็น ริมโปเช (Shardza Tashi Gyaltsen Rinpoche) ท่านเป็นต้นสายการปฏิบัติคำสอนซกเช็นของมูลนิธิพันดารา ชุดคำสอนมหาสมุทรแห่งพระวจนะ ตรีกายส่องแสงด้วยตนเอง รวมทั้งคำสอนอื่นๆ เช่น ขุมทรัพย์แห่งพระไตรปิฎก สืบมาจากท่าน
การปฏิบัติเสริมเหล่านี้ ได้แก่ ชุดการฝึกลมปราณซึ่งเป็นยอดของตันตระและเป็นพื้นฐานของซกเช็น รวมทั้งการฝึกปฏิบัติองค์พระแห่งปัญญา (โดยเฉพาะคุรุ ยีตัม ฑากินี) เป็นไปตามแนวทางของพระอาจารย์ชาซา ต้าชี เกียลเซ็น ริมโปเช และสอดคล้องกับคำแนะนำของพระอาจารย์ลาเซ ริมโปเช และพระอาจารย์ซูเช็น ริมโปเช ที่เน้นการฝึกซกเช็นให้เป็นการปฏิบัติต่อยอดจากตันตระหรือควบคู่กับตันตระ (อย่างน้อยในระดับสูงสุดของตันตระ) เพื่อให้การฝึกเป็นไปอย่างไม่ผิดพลาดและผู้ปฏิบัติได้รับการปกป้องจากอุปสรรคต่างๆ
ชุดคำสอนเกี่ยวกับการฝึกลมปราณ (ซาลุง) และความร้อนภายใน (ตุมโม)
จุดมุ่งหมายของการฝึกเพื่อเข้าถึงความร้อนในกายซึ่งจะนำไปสู่การประสานมหาสุขและศูนยตา จะมีการสอนคอร์สต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระยีตัมและชุดคำสอนที่ต่างกัน เปิดสลับปี หรืออาจเน้นการปฏิบัติใดปฏิบัติหนึ่งเป็นสำคัญ ขึ้นกับความเหมาะสมที่เกี่ยวโยงกับลักษณะการปฏิบัติและปัจจัยเนื่องด้วยผู้ขอรับการฝึกฝน
เงื่อนไข : ผู้ฝึกควรทำเงินโดรให้ครบเก้าแสน ได้เคยผ่านคอร์สอื่นๆ ที่สำคัญ มีประสบการณ์การจำศีลพระยีตัม และได้รับมนตราภิเษกที่เกี่ยวข้อง การปฏิบัติเหล่านี้หลังได้รับคำสอนแล้วควรฝึกในจำศีล
ลักษณะของการปฏิบัติ : ทำสมาธิเกี่ยวกับลมปราณและจิตเดิมแท้ และฝึกโยคะทรูคอร์เพื่อขจัดปัญหาเกี่ยวกับลม บางการปฏิบัติเน้นให้ฝึกจุดเล็ง (รับสารอาหารจากธรรมชาติ ซึ่งก็คืออดอาหาร) ในตอนจบของจำศีล ตามที่ระบุ ดังนี้
- สมาธิตุมโมจากชุดคำสอนขุมทรัพย์พระฑากินี เน้นพระฑากินีวัชรวราหิ (ดอร์เจ พักโม) เป็นพระยีตัม สายการปฏิบัติธรรมสมบัติของพระคุรุปัทมสัมภวะ ซึ่งมีบทปฏิบัติถึงพระหยกรีวะและพระฑากินีวัชรโยคินีร่วมด้วย + จำศีล 30 – 100 วัน
- สมาธิตุมโมจากชุดคำสอนตรีกายส่องแสงด้วยตนเอง โดยพระอาจารย์ชาซา ต้าชี เกียลเซ็น ริมโปเช เน้นพระฑากินีวัชรวราหิ (ทุกจี กุนเทรอมา) เป็นพระยีตัม สายการปฏิบัติอาทรี ซกเช็น + จำศีล 100 วัน + จับเทรอ (ฝึกพลังลม) 15 วัน + ฝึกจุดเล็ง 4 วัน 3 คืน
- สมาธิตุมโมจากชุดคำสอนพระคุรุเซวัง รินซิน ปางดินแดนทิเบต เน้นพระคุรุเซวัง รินซิน เป็นพระยีตัม จากสายการปฏิบัติสายธารผ่านการกระซิบบอกเซวัง เญียนจุด ซึ่งมีบทสวดบูชาพระคุรุเซวัง รินซินและพระฑากินีวัชรวราหิ (ญีมา เออบา) + จำศีล 30 วัน + ฝึกจุดเล็ง 7 วัน
ชุดคำสอนมารดาตันตระ
- กงเชอ นัมซุม แก่นหัวใจของคุรุ ยีตัม ฑากินี (เป็นการปฏิบัติเบื้องต้นของชุดคำสอนนี้)
- มาจุด จุนเช บทปฏิบัติประจำวันแห่งมารดาตันตระ (ฝึกปฏิบัติพระยีตัมและพระฑากินีเจมา เออโซ ผู้เป็นองค์หลักของเหล่าฑากินี ทำสมาธิและบริกรรมมนตรา พร้อมถวายซกด้านนอก ใน และลึกล้ำ
- สมาธิตุมโม (ดูชุดคำสอนเกี่ยวกับการฝึกลมปราณ ซึ่งทุกชุดเกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาของมารดาตันตระ)
- อุบายวิธีหก และกายมายา
- โยคะความฝันและแสงกระจ่าง
- บาร์โดและโพวา
- เจอดแห่งมารดาตันตระ การปฏิบัติระดับนอก ใน และลึกล้ำ
หมายเหตุ : คอร์ส “ลุงจอร์งา การปฏิบัติเกี่ยวกับลมทั้งห้า” ซึ่งอยู่ในหลักสูตรพื้นฐาน จะเปิดสอนปี 2563 อ้างอิงปรัชญา การฝึกลมปราณและโยคะจากชุดคำสอนนี้ แต่ไม่เน้นการปฏิบัติพระยีตัม
ชุดคำสอนปัญญาญาณลึกล้ำ

พระฑากินีวัชรวราหิ หรืออีกหลายพระนามในภาษาทิเบต เป็นพระยีตัมองค์หลักในการฝึกลมปราณและแผ่ความร้อนภายใน
เป็นชุดคำสอนพระฑากินีที่เกี่ยวข้องกับชุดคำสอนมารดาตันตระ เน้นพระฑากินีวัชรวราหิ (ซังวา ยีชี) คำสอนนี้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติพลังแห่งปัญญาญาณที่ถ่ายทอดเป็นองค์พระห้าพระองค์ตามจักระทั้งห้า เกี่ยวโยงกับพระสมันตภัทรีและพระมหามารดาทุกจี ชัมมา เป็นชุดคำสอนพิเศษที่มีการฝึกลมปราณและการทำสมาธิตุมโมเป็นของตัวเอง เน้นจำศีล 100 วัน
หมายเหตุ : ทุกชุดคำสอนข้างต้นเกี่ยวข้องกับพระฑากินีวัชรวราหิ โดยพระองค์มีพระนามต่างๆ กัน ได้แก่ ทุกจี กุนเทรอมา (ผู้นำไปสู่การหลุดพ้นด้วยความกรุณา), ดอร์เจ พักโม (วัชระผู้มีเศียรเป็นสุกร), ญีมา เออบา (แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์) และซังวา ยีชี (ปัญญาญาณลึกล้ำ)
การปฏิบัติเสริมอื่นๆ
ชุดปฏิบัติองค์พระแห่งปัญญา
คอร์สและการปฏิบัติต่อไปนี้เลือกเฉพาะที่ทางมูลนิธิได้เคยเปิดสอนและจะมีการสอนหรือจัดกิจกรรมภาวนาอีกในอนาคตอันใกล้ แต่ละองค์คือแต่ละวิธีในการที่เราจะแปรเปลี่ยนกิเลสให้เป็นปัญญา
พระยีตัมที่เปิดสอนให้บุคคลทั่วไปส่วนใหญ่เป็นปางสันติเพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถฝึกปฏิบัติได้ หากเป็นคอร์สที่เกี่ยวข้องกับพระวิทยาธร พระฑากินี และพระธรรมบาลจะมีการถวายซกด้วย
การปฏิบัติองค์พระแห่งปัญญาเป็นการปฏิบัติสำคัญที่จะทำให้เรามีกำลังในการเผชิญสิ่งท้าทายต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติธรรมไม่มีอุปสรรรค เพื่อปกป้องผู้ปฏิบัติธรรมจากความเจ็บป่วยและเหตุอื่นๆ ที่นำไปสู่ความทุกข์และการจากไปก่อนวัยอันสมควร การปฏิบัติเหล่านี้ยังช่วยให้ได้ฝึกสมาธิแบบตั้งนิมิตและสลายนิมิตซึ่งเป็นวิธีการที่สำคัญในการเปลี่ยนกิเลสและการปรุงแต่งให้เป็นปัญญา และเป็นพื้นฐานของการภาวนาที่นำไปสู่การปฏิบัติซกเช็น
คอร์สและการปฏิบัติที่เปิดสอน รวมทั้งมนตราภิเษกที่ได้มอบให้แก่บุคคลทั่วไป
- พระมหามารดาเชรับ ชัมมา
- พระคุรุปัทมสัมภวะ
- พระคุรุผู้มีจิตเป็นอมตะสามพระองค์
- พระแม่ตาราเขียวและตารา 21 องค์
- พระแม่ตาราขาว
- พระอวโลกิเตศวร
- พระมัญชุศรี
- พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า
- พระวัชรปาณี
- พระพุทธเจ้าอมิตายุส
- พระแม่ฉัตรขาวและการสะเดาะเคราะห์
คอร์สที่เปิดสอนเฉพาะผู้ปฏิบัติในหลักสูตรซกเช็น (*ต้องผ่านคอร์สเงินโดร)
- แก่นหัวใจพระวิทยาธรและพระฑากินี
- พระมหามารดาปรัชญาปารมิตาา (เชรับ พาชิน)
- พระธรรมบาลยีชีวาโม พระซีปาเกียลโม และพระปัลเดนลาโม
ชุดคำสอนและการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นในบาร์โด
คอร์สที่เปิดสอนสำหรับบุคคลทั่วไป
- ปัญญาห้าและพระพุทธเจ้าห้าตระกูล (เทคนิคการฝึกปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นในบาร์โด เนื้อหาในคอร์สเตรียมตัวตายอย่างมีสติ ระดับ 2)
- พระพุทธเจ้าเมินลัม ทาเย (คำสอนจากชุดการปฏิบัติสู่สุขาวดี)
- การสวดพระนามของพระพุทธเจ้าพันองค์และสลายรอยกรรมของสรรพสัตว์
คอร์สที่เปิดสอนเฉพาะผู้ปฏิบัติในหลักสูตรซกเช็น
- คำสอนและการปฏิบัติพระปางสันติและพิโรธในบาร์โด (ฉีโทร)
- สมาธิริกทรุก รังจุง (การปฏิบัติสลายสภาวะหกภพภูมิและเมล็ดพันธุ์แห่งสังสารวัฏ + จำศีล 49 วัน)
ชุดการปฏิบัติแห่งความกรุณา
(หลักสูตรซกเช็น) การปฏิบัติทั้งสี่ของโยคี ได้แก่ อุทิศน้ำให้เปรต (ชับตอร์) อุทิศกลิ่นอาหารไหม้ให้ดวงจิตในบาร์โด (ซูร์โง) ถวายกำยานหอมแด่พระธรรมบาลและเทพยดาท้องถิ่น (ซังพู) และอุทิศร่างกายเป็นทาน (เจอด) เนื่องจากการปฏิบัติลำดับที่สี่ได้ทำเป็นคอร์สภาวนาแยก ในคอร์สนี้จะเน้นการปฏิบัติที่เหลือทั้งสาม
เจ้าของหลักสูตรและผู้สอนหลัก
ดร. กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล (เกซัง ตาวา) เป็นอาจารย์สอนคอร์สภาวนาในพุทธวัชรยาน เป็นนักทิเบตศึกษาและผู้ก่อตั้งศูนย์ขทิรวันและมูลนิธิพันดารา จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา อดีตอาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ มิว เยินเต็น เป็นอาจารย์สอนคอร์สภาวนาด้านพุทธวัชรยาน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมทิเบต เคยบวชเรียนที่วัดตกเต็น เป็นเวลา 27 ปี
ทั้งอาจารย์กฤษดาวรรณและอาจารย์เยินเต็นได้รับมอบคำสอนในมรรควิถีพระสูตร ตันตระและซกเช็นแห่งพุทธเพินและนิกายอื่นๆ ในพุทธวัชรยานจากคุรุอาจารย์หลายท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์ซูเช็น เทกชก เต็มเป ญีมา ริมโปเช และพระอาจารย์กุนเทรอ เมินเกียล ลาเซ ริมโปเช
อาจารย์กฤษดาวรรณและอาจารย์เยินเต็นได้ฝึกฝนผ่านการเรียนการสอนในวัด ฝึกกับริมโปเช และการจำศีลภาวนาเป็นเวลากว่าสิบปี และได้สำเร็จจากหลักสูตรการปฏิบัติธรรมและจำศีลสามปีซึ่งรวมจำศีลมืดจากวิทยาลัยซกเช็นแห่งชางชุง ณ วัดตกเต็น ทิเบต