ทงเลน (ทองเลน) เป็นวิธีการทำสมาธิเพื่อให้โพธิจิตบังเกิดขึ้นในใจเราอย่างรวดเร็ว
จริงๆ เรามีโพธิจิตในจิตเดิมแท้แต่แรกเริ่ม แต่โพธิจิตนี้ถูกบดบังโดยเมฆหมอกแห่งอวิชชา เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่ถูกบดบังโดยกลุ่มเมฆ ดังนั้น ก่อนปฏิบัติเราจึงมักสวดบทเจริญโพธิจิต เพื่อเตือนตัวเองว่าเราทำทงเลนด้วยวัตถุประสงค์เช่นนี้
บทสวดเจริญโพธิจิต
บทเจริญโพธิจิตมีหลายบทขึ้นอยู่กับมรรควิถีและสายการปฏิบัติ และแม้แต่ในหนึ่งมรรควิถีก็ยังมีบทเจริญโพธิจิตที่หลากหลาย สำหรับบทที่ยกมานี้เป็นบทปฏิบัติเบื้องต้น (เงินโดร) ที่ผู้ปฏิบัติธรรมในสายอาทรี ซกเช็น สวดกันเป็นประจำ
เราสามารถสวดบทนี้ในทุกที่ที่เราอยู่ ในทุกสภาวะที่เราเป็น ไม่ว่าเราจะกำลังมีความสุขอย่างที่สุด หรือทุกข์อย่างที่สุด ขอให้เราอย่าลืมเจริญโพธิจิต แผ่กุศลผลบุญที่เราได้เคยทำในภพชาติไม่ถ้วนในกาลทั้งสามอันได้แก่ ปัจจุบัน อดีต และอนาคต ให้เป็นเหตุปัจจัยให้ชีวิตทั้งหลายผู้เป็นดังแม่ของเราได้ประสบความสุขอันเป็นนิรันดร์ ให้พวกเขาได้เข้าถึงพระโพธิญาณ
บทเจริญโพธิจิต
จินตา เกียลวา พักปา จิฉิน ตุ
ติสก ตูซุม เกเว เทอปา จิ
เซ็มแจน ซังเจ ทบปา ชาเว ชี
ตักนิ ชังฉุบ ชกตุ เซ็มเจด โด
ดังพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทรงเจริญโพธิจิต
ด้วยผลบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำในสามกาล
ข้าพเจ้าขอเจริญโพธิจิต
เพื่อสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เข้าถึงพระสัมมาสัมโพธิญาณ
คำสวดนี้เป็นคำสวดที่คุรุอาจารย์ได้สวดกันมานานหลายศตวรรษ จึงทำให้เรามีวันคืนดีๆ ที่เรายังคงดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ท่ามกลางกระแสแห่งความขัดแย้ง ความวุ่นวายแห่งสงคราม และการทำร้ายกันหากเราหมั่นตั้งจิตอันประเสริฐเช่นนี้ นอกจากตัวเราจะได้รับประโยชน์เพราะเราได้บำเพ็ญบารมีให้กับตัวเราเองแล้ว ลูกหลานของเราก็จะได้รับประโยชน์ด้วย เราได้ให้คำอธิษฐานแก่แผ่นดิน ทำให้แผ่นดินแปรเปลี่ยนเป็นเนื้อนาบุญอันศักดิ์สิทธิ์ แต่เราไม่ได้ทำเพื่อลูกหลานของเราเท่านั้น เราจะทำให้กับลูกหลานนับจำนวนไม่ถ้วนที่จะเกิดมาในอนาคต
อานิสงส์ของโพธิจิต
1. ทำให้เป็นพระโพธิสัตว์ที่แท้ มีคำกล่าวว่า ถ้าบุคคลใดก็ตามเจริญโพธิจิต แล้วจิตของเขาบริสุทธิ์ สมบูรณ์ เป็นโพธิจิตที่แท้ บุคคลนั้นจะได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ เรียกว่า ยุงตรุง เซ็มปะ แปลว่า ผู้กล้าที่ไม่มีใครสามารถทำลายได้ หรือ ชังฉุบ เซ็มปะ ผู้ที่เข้าถึงการตื่นรู้อย่างสมบูรณ์ บุคคลนั้นจะเป็นภาชนะที่เหมาะสมสำหรับการนอบน้อมของมนุษย์และเทวดา
2. โพธิจิตทำให้กิเลสเครื่องเศร้าหมองหมดไป มีคำกล่าวว่าผลบุญจากการเจริญโพธิจิตจะไม่มีวันหมดสิ้น ดุจดังน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้งจากทะเล และตราบเท่าที่สังสารวัฏยังคงดำรงอยู่ ผลบุญของการเจริญโพธิจิตจะยังคงอยู่ ไม่มีวันหมดสิ้นไป กุศลใดๆ ก็ตามเทียบไม่ได้กับการเจริญโพธิจิต แม้ผู้ที่ทำอนันตริยกรรม ซึ่งถือว่าเป็นบาปอันร้ายแรงนำไปสู่การตกนรกโดยทันที แต่หากผู้นั้นสำนึกผิด และทุ่มเทกายวาจาใจให้กับการเจริญโพธิจิตไปตลอด บุคคลผู้นั้นก็ได้รับการคุ้มครอง บาปกรรมก็จะสลายไปได้ เหมือนกับวันที่มืดมิด ไม่มีแสงแดด แล้วอยู่ๆ ก็มีพระอาทิตย์ส่องแสงลงมา สลายความมืดมิดไปทันที และมีการเปรียบว่าโพธิจิตเป็นดังต้นอโรคยา ซึ่งเป็นราชาแห่งยา เป็นสมุนไพรที่รักษาได้ทุกโรค โพธิจิตสามารถรักษาความเจ็บป่วยทั้งหลายที่เกิดจากพิษแห่งกิเลส
3. ตราบเท่าที่โพธิจิตไม่เสื่อมสลายไป จะก่อให้เกิดนิพพานในสังสารวัฏ คุรุอาจารย์ที่เข้าถึงโพธิจิตโดยสมบูรณ์ แม้ท่านจะดำรงอยู่ในสังสารวัฏ แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดหรือทำอะไรก็ตาม ท่านก็จะไม่ถูกแปดเปื้อนโดยมลทินของสังสารวัฏ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าทั้งสามกาลจึงต่างยึดถือหนทางแห่งโพธิจิตเป็นหนทางธรรมเพียงหนทางเดียว พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงทรงเจริญโพธิจิต โพธิจิตคือแก่นสาระของพุทธะ ที่อยู่ในจิตของพระโพธิสัตว์ทุกองค์และคุรุอาจารย์ทุกท่าน
โพธิจิตมั่นคงด้วยทงเลน
การทำสมาธิทงเลนเป็นการภาวนาที่ทำให้เรามีศักยภาพ มีวิธีที่จะเชื่อมโยงและช่วยเหลือผู้อื่น ในการช่วยเหลือผู้อื่น เราจะรู้วิธีในการช่วยเหลือตัวเรา
อย่างไรก็ดี แม้การปฏิบัติทงเลนจะเน้นทำประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่สุดท้ายผู้ที่ได้รับประโยชน์มากกว่าผู้ใดก็คือตัวเราเองเ หากเราเข้าถึงหัวใจของการปฏิบัติ เราจะไม่ถูกความทุกข์รบกวน เพราะเราเข้าใจธรรมชาติของทุกข์ว่าไม่ได้เกิดกับเราเพียงคนเดียว
ในคัมภีร์ลัมริม ดวงประทีปชัดใสแห่งคำสอน พระอาจารย์มหาบัณฑิตยังได้เล่าเรื่องการสนทนาธรรมของพระอาจารย์กับศิษย์คู่หนึ่งไว้อย่างน่าสนใจว่า
ครั้งหนึ่งศิษย์ถามคุรุว่า“บุคคลใดได้ชื่อว่าวิเศษกว่าบุคคลใดๆ”
คุรุตอบว่า “ผู้ที่ละความปรารถนาของตัวเอง แล้วดำรงอยู่เพื่อความปรารถนาของผู้อื่นเท่านั้น ถือว่าวิเศษยิ่งกว่าบุคคลใดๆ”
ศิษย์ถามต่อว่า “หนทางธรรมใดสำคัญที่สุดและเรียกว่าเป็นหนทางที่ยิ่งใหญ่”
ท่านตอบว่า “หนทางแห่งโพธิจิตที่คิดแต่จะยังประโยชน์ให้สรรพสัตว์”
ศิษย์ถามต่อไปอีกว่า “แล้วยานใดถึงจะเรียกว่าเป็นยานที่ยิ่งใหญ่”
คุรุยิ้มและกล่าวว่า “ยานอันเปี่ยมล้นด้วยความกรุณา”
ผู้ปฏิบัติธรรมด้วยจิตอันเปี่ยมล้นด้วยความกรุณาจึงเป็น “นักรบแห่งจิตวิญญาณ” เป็นผู้ที่กล้าทิ้งความปรารถนาของตัวเองแล้วให้ความสำคัญกับความปรารถนาของผู้อื่น กล้าให้เวลากับการช่วยเหลือผู้อื่น แม้ตัวเองจะต้องเสียเวลาไปเป็นวันๆ
ทงเลน ภาวนาเพื่อกลับสู่โพธิจิต/ เกซัง ตาวา (ดร. กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล)
17 กันยายน 2562