การก่อสร้างพระสถูปได้ดึงดูดให้คนที่มีจิตศรัทธาและผู้ที่ใฝ่หาสันติภาพใน โลกมารวมตัวกัน
มูลนิธิพันดารา เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทิเบต หิมาลัย ส่งเสริมศิลปะ ภูมิปัญญา สถาปัตยกรรม การปฏิบัติธรรมและการดูแลสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการการกุศลในทิเบตตะวันออกและประเทศไทย มีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริม ให้เกิดสันติภาพในโลกบนพื้นฐานของความเมตตากรุณา และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ของเอเชีย
พระศานติตารามหาสถูป” เป็นสถูปพุทธศิลป์แบบวัชรยานองค์แรกของประเทศไทย สร้างขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่คือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นพระบรม ธรรมิกมหาราช เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และเพื่อเป็นการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทนจิตตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อันเป็นการ ธำรงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน
พระศานติตารามหาสถูป ตั้งอยู่ ณ ศูนย์ขทิรวัน (ภัทรกัลป์ตาราขทิรวัน) อันมีความหมายถึงสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งป่าสีเสียด เป็นศูนย์เรียนรู้และปฏิบัติธรรมสำหรับประชาชน ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวัฒนธรรมทิเบตและพุทธศาสนานิกาย วัชรยาน ตั้งอยู่ที่ถนนหัวหิน–ป่าละอู อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
“การสร้างพระสถูปนี้เป็นบุญกุศลมหาศาล เป็นสิริมงคลที่ชาวไทยผู้อาศัยใต้ร่มโพธิสมภารบารมีจะร่วมกันสร้างถวายเป็น พระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม อีกประการหนึ่งคือพื้นที่ของขทิรวันก็อยู่ในบริเวณบ้านของพระองค์ท่านคือ หัวหิน เราจึงตั้งใจถวายพระองค์ท่านค่ะ อยากให้พระองค์มีอายุยืนเป็นร้อยๆ ปี” ดร.กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ ประธานมูลนิธิพันดารากล่าว
“ศานติตารามหาสถูปจะเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทนกาย วาจา ใจ ของพระพุทธเจ้า โลกสมัยใหม่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ภัยธรรมชาติและสงคราม พระสถูปจะเป็นศูนย์รวมพลังความดี การก่อสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาจะก่อให้เกิด ความเจริญรุ่งเรือง เกิดความรักใคร่ปรองดองกัน นำไปสู่สันติภาพและสันติสุขในการดำรงชีวิต”
ศานติตารามหาสถูป มีความหมายว่า พระมหาสถูปของพระแม่ตารา (หนึ่งในพระโพธิสัตว์ของวัชรยาน) ผู้ประทานศานติ คือ ความสุข สันติภาพ และกำจัดอกุศลทั้งปวงให้สูญสิ้นไป ตามโครงร่างที่ออกแบบไว้นั้นมีความสูง 72 เมตร ฐานกว้าง 30 เมตร มีลักษณะเด่นคือ วิหารพระตถาคตทั้งสี่ 1 หลัง ซุ้มพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ 3 ซุ้ม วิหารและซุ้มเหล่านี้จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปพระพุทธเจ้าและพระ โพธิสัตว์ 17 พระองค์ ภายในพระสถูปจะเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ คัมภีร์ สถูปพิมพ์ (เจดีย์ดิน) และวัตถุมงคลต่างๆ
มูลนิธิพันดารา ยังตั้งใจดำเนินความเป็นอยู่ในพื้นที่ให้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงอีกด้วย อาทิ การปลูกพืชหมุนเวียน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเคารพและรู้ค่า การหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากเศษสิ่งปฏิกูลต่างๆ รวมทั้งการปลูกป่าธรรมชาติเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม
“เราไปดูสถานที่สร้างพระสถูปรู้สึกอัศจรรย์ใจในที่โล่งกว้าง มีภูเขาโอบล้อม มีทะเลสาปธรรมชาติ มีตาน้ำบริสุทธิ์ มีต้นไทรใหญ่ที่เกิดอยู่แล้ว ใต้ต้นไทรมีแท่นหินที่ธรรมชาติจัดไว้อย่างน่าประหลาด…เรารู้สึกว่าที่นั่นมีพลังบวก มีความศักดิ์สิทธิ์” ศิษฏ์–ปรีชญา ธีระโกเมน สองสามีภรรยาซึ่งเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบการก่อสร้าง ช่วยกันบอกเล่า
ดร.กฤษดาวรรณกล่าวว่า การก่อสร้างพระสถูปได้ดึงดูดให้คนที่มีจิตศรัทธาและผู้ที่ใฝ่หาสันติภาพใน โลกมารวมตัวกัน นอกจากศิษฏ์และปรีชญา…อธิพงศ์ ภาดานุพงศ์? ช่างเขียนภาพ เมธี คุณเจริญ วิศวกร ชลทิศ ตามไท สถาปนิก และอีกมากมายที่ มาร่วมมือร่วมใจกันทำงานด้วยจิตอาสา แม้ส่วนใหญ่จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
บางส่วนจากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลาเมื่อตอนมูลนิธิเปิดตัวองค์พระสถูปจำลอง ด้วยความอนุเคราะห์จากสำนักพิมพ์เซรินเดีย